พระบรมศาสดาทรงปรารภซึ่งพระสารีบุตรให้เป็นเหตุ แล้วจึงทรงแสดงชาดกนี้แก่ภิกษุทั้งหลาย กล่าวคือ เมื่อพระสารีบุตรเถรเจ้ามีความประสงค์จะฉันขนมที่ทำด้วยแป้ง อยู่มาวันหนึ่ง คนทั้งหลายจึงทำขนมไปถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ มีพระสารีบุตรเป็นประธาน เมื่อเสร็จการฉันแล้ว คนทั้งหลายจึงขอให้พระสารีบุตรเถรเจ้ารับขนมที่เหลือไว้ให้ภิกษุอื่น ซึ่งยังไม่กลับจากบิณฑบาต ในขณะนั้นภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นศิษย์ของพระเถรเจ้ายังเข้าไปบิณฑบาตในบ้าน คนทั้งหลายจึงเอาขนมที่เป็นส่วนของภิกษุหนุ่มรูปนั้นไปถวายพระสารีบุตร พระสารีบุตรจึงบอกว่าภิกษุหนุ่มรูปนั้นยังไม่กลับมา ถึงอย่างนั้นคนทั้งหลายก็ถวายขนมนั้น พระสารีบุตรรับขนมนั้นมาฉันพอฉันเสร็จภิกษุหนุ่มรูปนั้นก็มาถึง พระเถรเจ้าจึงบอกว่าขนมที่เขาถวายไว้เพื่อเธอเราฉันเสียหมดแล้ว ภิกษุหนุ่มรูปนั้นจึงกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมดาขนมที่มีรสหวานอร่อยใครเล่าจะไม่เป็นที่พึงพอใจ เมื่อภิกษุหนุ่มกล่าวดังนี้แล้ว พระเถรเจ้าก็เกิดความสลดใจจึงตั้งใจว่า ต่อไปนี้เราจะไม่ฉันขนมที่ทำด้วยแป้งอีก แล้วท่านก็ปฏิบัติได้โดยความตั้งใจ เมื่อพระบรมศาสดาทรงทราบเรื่องจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรนี้ถึงจะเสียชีวิตก็ไม่ถือเอาสิ่งที่ตนละแล้ว อันนี้เป็นนิสัยของสารีบุตร ครั้นตรัสดังนี้แล้วจึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาลล่วงมาแล้ว ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีชาวกรุงพาราณสีคนหนึ่งถูกอสรพิษกัด พวกญาติจึงนำไปหาแพทย์ผู้หนึ่ง แพทย์จึงถามว่า งูนั้นมีลักษณะอย่างไร เมื่อคนทั้งหลายบอกลักษณะงูแล้ว แพทย์จึงบอกว่าเราจะใส่ยาถอนพิษให้ แล้วเราจะเรียกงูตัวนั้นมาให้ดูดพิษออกจากแผล คนทั้งหลายจึงกล่าวว่า ขอท่านจงกระทำตามประสงค์เถิด แพทย์จึงร่ายมนต์เรียกงูตัวนั้นมาถามว่า ท่านกัดชายคนนี้หรือ งูก็แสดงอาการเหมือนจะตอบว่า ข้าพเจ้ากัด แพทย์จึงบอกว่า ถ้าอย่างนั้นท่านจงดูดพิษออกจากแผลโดยเร็ว งูตอบว่า พิษที่ข้าพเจ้าได้คายออกไปแล้ว ข้าพเจ้าไม่เคยดูดกลับคืนมาเลย ข้าพเจ้าจะไม่ยอมดูดพิษกลับคืนมาเป็นอันขาด แพทย์จึงให้คนก่อไฟขึ้น แล้วบังคับงูว่า ถ้าท่านไม่ดูดพิษออกท่านจงเข้าไปสู่กองเพลิงเถิด งูได้ฟังดังนั้นจึงตอบว่า ข้าพเจ้ายินดีจะเข้าสู่กองเพลิง ไม่ยินดีที่จะดูดพิษกลับคืนมาอีก ครั้นกล่าวดังนี้แล้ว จึงกล่าวว่า
ธิรตฺถุ ตํ วิสํ วนฺตํ ยมหํ ชีวิตการณา
วนฺตํ ปจฺจาวมิสฺสามิ มตํ เม ชีวิตา วรนฺติ
แปลว่า พิษที่คายออกไปแล้วนั้นเป็นของน่าเกลียด ข้าพเจ้าดูดพิษนั้นกลับคืนมาเพราะเห็นแก่ชีวิตใด ชีวิตนั้นย่อมเป็นของไม่ประเสริฐ ความตายของข้าพเจ้าที่ยอมเข้าไปในกองเพลิงยังประเสริฐกว่า ดังนี้ ครั้นกล่าวดังนี้แล้วก็เลื้อยไปเพื่อจะเข้ากองเพลิง ขณะนั้นแพทย์จึงห้ามไว้แล้วแพทย์นั้นก็รักษาบุรุษนั้นหายด้วยอำนาจยาและมนต์ จึงให้โอวาทแก่งูนั้นว่า จำเดิมแต่นี้ไปท่านอย่าได้ขบกัดผู้ใดอีกเป็นอันขาด แล้วก็ปล่อยให้งูนั้นปลาตนาการหนีไป เมื่อทรงแสดงเรื่องอดีตนี้จบลงแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า งูในครั้งนั้น ได้เกิดมาเป็นสารีบุตร ส่วนแพทย์ได้เกิดมาเป็นเราตถาคตนี้เอง ในชาดกนี้แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มีใจหนักแน่นมั่นคง เมื่อตั้งใจเลิกละสิ่งใดแล้วย่อมไม่กลับประพฤติสิ่งนั้นอีก ถึงตัวจะตายก็ไม่เสียดายชีวิต เป็นแบบอย่างอันดีของคนทั้งหลายทั่วไป แต่ขอท่านทั้งหลายผู้ได้สดับฟังจงเข้าใจว่า สิ่งที่เลิกละซึ่งไม่ควรกลับประพฤติอีกนั้นได้แก่สิ่งที่มีโทษในปัจจุบัน หรืออนาคตหรือมีโทษทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งสองประการไม่ใช่หมายสิ่งที่มีประโยชน์ ถ้าเป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์ถึงตั้งใจเลิกละแล้วก็ควรกลับประพฤติอีก อันนี้เป็นหลักแห่งการปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ดังนี้
“เราจักดูดพิษที่คายออกแล้วเพราะเหตุแห่ง
ชีวิตอันใด พิษที่คายออกแล้วนั้นน่าติเตียน
เราตายเสียประเสริฐกว่าความเป็นอยู่.”
วิสวันตชาดกจบ