พระบรมศาสดาทรงปรารภกุลบุตรผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ฉลาดในสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ให้เป็นเหตุ มีเรื่องปรากฏว่า ในกรุงสาวัตถีบุตรของเศรษฐีคนหนึ่งซึ่งมีอายุได้ ๗ ขวบ เป็นผู้มีปัญญาเฉียบแหลม วันหนึ่งได้ถามบิดาว่าประตูแห่งประโยชน์ได้แก่สิ่งอันใด ส่วนบิดาแก้ไขไม่ได้จึงคิดว่า ปัญหานี้ลึกซึ้งยากที่ผู้อื่นจะรู้ได้ มีแต่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้นที่จะทรงล่วงรู้ จึงให้บุตรถือเอาดอกไม้ของหอมเครื่องสักการะบูชาออกไปสู่พระเชตวนาราม แล้วกราบทูลพระพุทธองค์ว่าทารกนี้เป็นผู้มีปัญญาหลักแหลม ได้ถามประตูแห่งประโยชน์ต่อข้าพระองค์ ๆ แก้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขอพระองค์จงทรงแก้ไขด้วยเถิดพระพุทธเจ้าข้า
สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสว่า ดูก่อนอุบาสก กุมารนี้ได้เคยถามปัญหาเรื่องนี้ต่อเรามาแล้ว เราก็เคยได้แก้ไขให้ฟังแล้วแต่เขาได้ลืมเสีย ครั้นตรัสดังนี้แล้วจึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ในกรุงพาราณสี มีบุตรเศรษฐีคนหนึ่งมีอายุได้ ๗ ขวบได้ถามบิดาว่า สิ่งใดเป็นประตูแห่งประโยชน์ บิดาได้แก้ไขว่า
อาโรคฺยมิจฺเฉ ปรมญฺจ ลาภํ สีลญฺจ พุทฺธานุมตํ สุตญฺจ
ธมฺมานุวตฺตี จ อลีนตา จ อตฺถสฺส ทฺวารา ปมุขา ฉเฬเตติ
แปลว่า ประตูแห่งประโยชน์มี ๖ ประการ คือ ความไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ๑ ความเป็นผู้มีศีล ๑ คำสั่งสอนของผู้มีความรู้ทั้งหลาย ๑ การสดับเล่าเรียน ๑ การประพฤติตามธรรม คือประพฤติให้เป็นสุจริต ๑ การไม่ย่อท้อต่อสิ่งทั้งปวง ๑ ดังนี้
พระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายขยายความออกไปให้พิสดารว่า การที่ร่างกายไม่เร่าร้อนกระสับกระส่าย เรียกว่าความไม่มีโรค ผู้ที่มีโรคย่อมไม่สามารถจะทำทรัพย์ซึ่งยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นได้และไม่สามารถจะทำทรัพย์ที่มีอยู่แล้วให้เป็นประโยชน์งอกงามได้ ส่วนผู้ไม่มีโรคย่อมสามารถทำทรัพย์ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นได้ และทำทรัพย์ที่เกิดขึ้นแล้วให้เป็นประโยชน์งอกงามได้ อีกประการหนึ่ง ผู้มีใจกระสับกระส่ายด้วยกิเลส ซึ่งนับว่าเป็นโรคภายในก็ไม่อาจจะทำทรัพย์ภายใน มีฌานสมาบัติเป็นต้น ให้เกิดขึ้นได้ทั้งไม่อาจเพื่อจะเสวยผลอันเกิดแต่ฌานสมาบัตินั้นได้ รวมใจความว่า เมื่อมีโรคภัยไข้เจ็บประจำอยู่ ทรัพย์ที่ยังไม่ได้ก็เป็นอันยังไม่ได้ ที่ได้มาแล้วก็หาประโยชน์ไม่ได้ ถ้าไม่มีโรคจึงจะหาทรัพย์ได้ และทำทรัพย์ที่ได้มาแล้วให้เป็นประโยชน์ได้ โดยเหตุนี้ ความไม่มีโรคจึงจัดว่าเป็นลาภอย่างเอก ฯ ศีลนั้น หมายการทำดีด้วยกาย วาจา ใจ ที่เรียกว่าศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ คำสอนของผู้รู้ทั้งหลายนั้น ได้แก่ คำสั่งสอนของนักปราชญ์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ฯ การสดับนั้น ได้แก่การฟัง การเรียน การไต่ถาม ซึ่งสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ ตลอดถึงศิลปวิทยาต่าง ๆ ที่เป็นสิ่งหาโทษมิได้ การประพฤติตามธรรมนั้น ได้แก่การประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา จิต คือ ไม่ทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่ว การไม่ย่อท้อนั้น ได้แก่การไม่ท้อถอยด้วยการงาน หรือ การศึกษาเล่าเรียน หรือความลำบากยากเข็ญ ตลอดถึงทุกขเวทนาซึ่งเกิดมีมาแก่ตน ธรรมทั้ง ๖ อย่างนี้ ล้วนแต่ให้สำเร็จประโยชน์ทางโลกีย์และทางโลกุตตระ จึงเรียกว่า ประตูแห่งประโยชน์ ดังนี้ ครั้งสมเด็จพระบรมศาสดา ทรงชี้แจงประตูแห่งประโยชน์ด้วยเรื่องอดีตอย่างนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า บุตรของเศรษฐีในครั้งนั้น ได้มาเกิดเป็นบุตรของเศรษฐีคนนี้ ส่วนเศรษฐีในครั้งนั้น คือเราตถาคตนี้เอง ดังนี้
บุคคลควรปรารถนาลาภอย่างเยี่ยม คือ ความไม่มีโรค ๑ ศีล ๑ ความรู้
ของท่านผู้รู้ทั้งหลาย ๑ การสดับฟัง ๑ ความประพฤติตามธรรม ๑ ความ
ไม่ท้อถอย ๑ คุณธรรม ๖ประการนี้ เป็นประตู เป็นประธานแห่งประโยชน์.
อัตถัสสทวารชาดกจบ.