๑๐๓. เวริชาดก (ว่าด้วยการอยู่ร่วมกับคนมีเวรกัน)

           สมเด็จพระบรมศาสดาทรงปรารภอนาถบิณฑิกเศรษฐีให้เป็นต้นเหตุ กล่าวคืออนาถบิณฑิกเศรษฐีนั้น ในเวลาวันหนึ่ง เมื่อกลับมาจากบ้านส่วยของตนได้พบพวกโจรที่กลางทาง จึงคิดว่า เราไม่ควรพักในระหว่างทาง ควรจะรีบไปให้ถึงพระนครโดยเร็ว แล้วก็รีบขับโคมาถึงกรุงสาวัตถี รุ่งขึ้นจึงเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลเหตุการณ์ให้ทรงทราบ พระศาสดาจึงตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดีถึงนักปราชญ์ทั้งหลายในปางก่อนก็เหมือนกัน พระองค์จึงทรงนำมาซึ่งอดีตชาดกยกเป็นอุทาหรณ์ต่อไปว่า ในอดีตกาลโน้น มีเศรษฐีคนหนึ่ง เมื่อกลับจากการกินเลี้ยงในบ้านที่เขาเชื้อเชิญตำบลหนึ่ง ได้พบโจรหมู่หนึ่งในกลางทางเศรษฐีนั้นก็มิได้คั่งค้างอยู่ในมรรคา รีบขับโคมาบ้านของตนโดยด่วน ครั้นถึงก็บริโภคโภชนาหารอันมีโอชารสแล้ว ก็นิสัชชนาการอยู่ในที่นอนของตน จึงคิดว่าเราได้รอดพ้นจากเงื้อมมือของพวกโจรมาถึงบ้านโดยสวัสดีแล้ว เมื่อคิดอย่างนี้แล้วก็เกิดความปลื้มใจ จึงเปล่งวาจาขึ้นในเวลานั้นว่า

ยตฺถ   เวรี   นิวีสติ          น   วเส   ตตฺถ   ปณฺฑิโต

เอกรตฺตํ   ทฺวิรตฺตํ   วา          ทุกขํ   วสติ   เวริสูติ

          แปลว่า ในที่ใดมีข้าศึกศัตร  นักปราชญ์ย่อมไม่อยู่ในที่นั้น เพราะจะอยู่ในที่นั้นแม้เพียงราตรีเดียวหรือ ๒ ราตรี ก็ย่อมเป็นทุกข์ ดังนี้

          ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงเรื่องอดีตอย่างนี้แล้ว จึงประชุมชาดกว่า เศรษฐีในครั้งนั้น คือเราตถาคตนี้แล ดังนี้ ในชาดกนี้หมายความว่าผู้มีปัญญาไม่ควรอยู่ใกล้คนพาล ควรจะหลีกเลี่ยงคนพาลให้ห่างไกล เหมือนกับพวกพ่อค้าเกวียน หลีกเลี่ยงหนทางอันเป็นหล่มเป็นโคลนฉะนั้น หรือมิฉะนั้นให้บุคคลผู้มีปัญญาหลีกเลี่ยงคนพาล เหมือนกับบุคคลผู้แสนสะอาดหลีกเลี่ยงทางอันสกปรกโสมม หรือเหมือนกับคนผู้รักชีวิตหลีกเลี่ยงยาพิษอันร้ายแรงฉะนั้น เพราะการอยู่ใกล้คนพาล ซึ่งมีสันดานลามกไปด้วยเวรและภัย ย่อมหาความสุขมิได้ เพราะจะต้องระวังตัวอยู่เป็นนิจ ถ้าพลาดพลั้งก็จะเกิดเป็นเวรภัยแก่คนพาล ด้วยเหตุว่านิสัยคนพาลย่อมคอยหาโอกาสประทุษร้ายผู้อื่นอยู่เสมอ ถ้ายังไม่ได้โอกาสก็มักเสียดสีให้เกิดความรำคาญใจ นิสัยคนพาลย่อมถือความชั่วว่าเป็นความดี ย่อมเห็นความดีว่าเป็นของเลว คือเห็นคนที่มีศีลธรรมว่าเป็นคนโฉดเขลา แล้วชอบข่มเหงด้วยอาการกาย วาจา เมื่อเห็นผู้ใดไม่สู้ ก็ถือว่าเขากลัวตาย เปรียบเหมือนกับสุกรอันเปื้อนคูถแล้วไปท้าทายราชสีห์ เมื่อเห็นราชสีห์ไม่ต่อสู้ด้วยความเกลียด สุกรก็ถือว่าราชสีห์กลัว ข้อนี้ฉันใดอันนิสัยคนพาลก็ฉันนั้น การอยู่ใกล้คนพาลมีแต่ทุกข์อยู่ทุกเมื่อ การคบหาคนพาลมีแต่ความเสื่อมเสียพินาศเป็นนิตยกาล ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงสั่งสอนไม่ให้เวไนยนิกรคบหาสมาคมกับคนพาล คือคนที่มีนิสัยสันดานเป็นทุจริต ในเวลาที่จะทำ จะพูด หรือจะคิด ก็ล้วนแต่หนักไปในทางทุจริต ซึ่งแบ่งเป็นทางกาย ๓ คือการฆ่าหรือการทำร้ายร่างกายหรือการเบียดเบียน ผู้ไม่มีความผิด ๑ การลักขโมยฉ้อโกงผู้อื่น ๑ การล่วงประเวณีมิจฉาจาร ๑ ทางวาจามี ๔ คือ การพูดเท็จ ๑ การพูดส่อเสียด ๑ พูดคำหยาบ ๑ พูดเหลวไหลหาประโยชน์มิได้ ๑ ทางใจมี ๓ คือ การเพ่งอยากได้ของผู้อื่น มาเป็นของตนเปล่า ๆ ๑ การคิดปองร้ายหมายล้างผู้อื่น ๑ การเห็นผิดว่าบาปเป็นบุญ บุญเป็นบาป ๑ ผู้ที่มีลักษณะอย่างที่ว่ามานี้เรียกว่าคนพาล ขอท่านทั้งหลายจงจำไว้ให้ดีเพื่อตรวจดูตนและผู้อื่นว่าจะเป็นพาลหรือไม่ประการใด ถ้าเห็นว่าผู้อื่นเป็นพาลโดยเข้าลักษณะ ๑๐ ประการนี้ แม้แต่ประการใดประการหนึ่งก็ตาม ให้หลีกเลี่ยงเสียอย่าคบหาสมาคม วิธีหลีกเลี่ยงนั้นต้องให้หลีกเลี่ยงด้วยที่อยู่ คืออย่าให้อยู่ใกล้ ถ้าจำเป็นต้องอยู่ใกล้ให้หลีกเลี่ยงด้วยกายและวาจา คือ อย่าติดต่อด้วยการงานและการพูดจาปราศรัยในเมื่อไม่มีธุระจำเป็น เมื่อทำได้ดังนี้จะดี ๒ ประการ คือ ประการที่ ๑ คนพาลนั้นจะไม่ได้โอกาสที่จะทำร้ายตน ประการที่ ๒ ตนจะไม่เสียชื่อ ว่าคบหาสมาคมกับคนพาล แต่ต้องระวังกิริยาของตนอย่าให้คนพาลจับได้ว่าเกลียดชังเขา จงทำเพิกเฉยเหมือนกับตนไม่มีความรังเกียจ ในเวลาจำเป็นควรช่วยเหลือก็ให้ช่วยเหลือ จำเป็นควรพูดก็ให้พูด ถ้าถึงคราวที่คนพาลต้องภัยได้ทุกข์ ตนควรช่วยได้ด้วยกำลังทรัพย์ หรือกำลังกายแม้แต่อย่างใดอย่างหนึ่งก็ให้ช่วยไว้ เมื่อช่วยไว้อย่างนี้แล้วก็ให้เพิกเฉยต่อไปอีก ฝ่ายคนพาลก็จะเกิดความยำเกรงไปเอง อีกประการหนึ่งคนพาลย่อมกลัวคนจริง ในเวลาใด ที่ควรแสดงความจริงให้คนพาลเห็น หรือแสดงความคิดความสามารถให้คนพาลรู้ ในเวลานั้นต้องแสดงให้ได้ คนพาลจึงจะเกิดความเกรงกลัว แต่ในเวลาปกติอย่าอวดความคิดความสามารถแก่พวกคนพาล ให้ทำตนเหมือนกับดาบอันคมกล้า ซึ่งสวมอยู่ในฝักฉะนั้น ตามที่แสดงมานี้เป็นทางปฏิบัติอันดีต่อคนพาลทั้งนั้น แต่ยังมีอีกวิธีหนึ่ง คือ การที่จะทำให้คนพาลรักใคร่เกรงกลัว ต้องทำเป็นใจใหญ่ไม่เห็นแก่ได้แก่เสีย ควรเลี้ยงให้เลี้ยง ควรเกื้อกูลให้เกื้อกูล แต่ระวังกิริยาอย่าได้เป็นเพื่อนกับคนพาล ให้วางอาการเป็นผู้ใหญ่ของคนพาลเสมอ คนพาลจึงจะมีความรักใคร่เกรงกลัว ขอท่านทั้งหลายจงปฏิบัติดังชี้แจงมานี้เถิด จึงจักเกิดสิริสวัสดิมงคลพ้นจากอำนาจคนพาล ดังนี้

“คนมีเวรกันอยู่ในที่ใด บัณฑิตไม่ควรอยู่ในที่นั้น เพราะเมื่อ

อยู่ในพวกคนมีเวรกันคืนเดียว หรือสองคืนก็อยู่เป็นทุกข์.”

เวริชาดกจบ.