ตรวจดูพินัยกรรมพระสังฆบิดากันเถอะ !
พินัยกรรมพระสังฆบิดา =
ข้อ [๑๔๓]ใน สุตตันต. ที. มหา. เล่ม ๒ มีว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด ดังนี้ นี้เป็นพินัยกรรมของพระสังฆบิดา คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน
= ที่มาและความหมายแห่งความประมาท =
ประมาท เป็นคำไทย ปมาท เป็นคำมคธ พจนานุกรมมคธ – ไทย โดย พันตรี ป. หลงสมบุญ จำกัดความว่า ปมาท (ปุ) ความมัวเมา วิ. ปมชฺชนํ ปมาโท. เป็น ป บทหน้า มทฺ ธาตุในความเมา ดังนั้น ปมาท หรือ ประมาท จึงแปลว่า “ความมัวเมา” ทำให้เกิดคำถามว่า มัวเมาเป็นอย่างไร ? และมัวเมาในอะไร ? จึงเรียกว่า ความประมาท ความไม่มัวเมาเป็นอย่างไร ? และไม่มัวเมาในอะไร ? จึงรียกว่า ความไม่ประมาท พจนานุกรมภาษาไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ จำกัดความว่า ประมาท ก. ขาดความรอบคอบ ขาดความระมัดระวังเพราะทนงตัว ดังนั้น ความประมาท ในทางปฏิบัติจริงของชีวิต หมายถึง ความมัวเมาจนทำให้คนขาดความระมัดระวังตัว โดยใช้คำง่าย ๆ สั้น ๆ ว่า “ผู้ดำรงชีวิตอยู่ในโลกโดยขาดสติสัมปชัญญะ” ได้แก่ ขาดสัมมาสติและสัมมาสังกัปปะ จึงเกิดความประมาท หรือเกิดความมัวเมาจนไม่ระมัดระวังตัว
= โทษแห่งความประมาท =
ข้อ ๒๔๑๙ ในสุตตันต. ขุ. ชา. ภาค ๑ เล่ม ๑๙ มี ว่า อปฺปมาโท อมตํ ปทํ… แปลว่า ความไม่ประมาทเป็นทางไม่ตาย, ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย, ผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ตาย, คนประมาทเหมือนคนตายแล้ว,
ก. เพราะมัวเมาจึงเกิดความประมาท คือ คนผู้ประมาทย่อมมีชีวิตอยู่เหมือนคนตาย เพราะทำแต่กรรมชั่วเลี้ยงชีวิต ทำให้ชีวิตเป็นบาปเกิดความเน่าเหม็นด้านใน จึงมีค่าเท่ากับคนตายเพราะเน่าเหม็นเหมือนกัน
ข. เพราะความประมาทจึงเกิดความเสื่อม คือ จิตวิญญาณมนุษย์เสื่อมไปเป็นจิตวิญญาณสัตว์นรก เปรต เดียรัจฉาน อสุรกาย อมนุษย์ และมาร แต่บริหารงานอยู่ในชีวิตของคน ดังนั้น คนจึงกลายเป็นสัตว์นรกเสียเอง
ค. เพราะความเสื่อมจึงเกิดโทษ คือ ชีวิตประสบโทษหรือประสบภัยพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๑๐ อย่าง คือ ราชภัย โจรภัย อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย วิวาทภัย โรคภัย อุปัตติภัยหรืออุบัติเหตุ ทุพภิกขภัย และวินาศภัย
ฆ. กษัตริย์เป็นอันมากผู้มีความประมาทต้องเสื่อมประโยชน์และรัฐ คือ ทรัพย์สมบัติของชาติเสื่อมเสียไปโดยไร้ประโยชน์ ประชาชนในชาติเต็มไปด้วยความทุกข์หรือปัญหานานาชนิด มีปัญหายาเสพติดให้โทษ เป็นต้น
ง. ชาวบ้านมีความประมาทก็เสื่อมจากบ้าน คือ ไม่สามารถเลี้ยงและคุ้มครองบุตรภรรยาให้มีชีวิตเป็นปรกติได้ ครอบครัวขาดความสามัคคีปรองดอง ไม่เป็นเอกภาพในครอบครัว
จ. บรรพชิตมีความประมาทก็เสื่อมจากอนาคาริยวิสัย คือ เสื่อมจากความสามารถในการ “เป็นอยู่ชอบ” ได้แก่ความชอบ ๘ ประการ มีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ เป็นต้น ย่อมไม่เกิดไม่มีในชีวิตบรรพชิตผู้ประมาท
= เหตุเกิดแห่งความประมาท =
หนังสือธรรมวิจารณ หลักสูตรนักธรรมชั้นเอก ตอน “วิราคะ ความสิ้นกำหนัด” กล่าวถึงอารมณ์ยั่วยวนให้เกิดความเมา ๑๑ ประการ ที่ทำให้คนเกิดความประมาท คือ
๑. เมาในชาติ คือ เมาในความเป็นชาติไทย ชาติจีน เป็นต้น
๒. เมาในสกุล คือ เมาในสกุลอุปัฏฐากตน บำรุงตน สกุลป้า สกุลลุง เป็นต้น
๓. เมาในความเป็นอิสริยะ คือ เมาในความเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นประธานในสังคม เป็นต้น
๔. เมาในบริวาร คือ เมาในลูกน้อง ลูกศิษย์ คนงาน เมาในฟาร์มสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ มีฟาร์มเป็ด ฟาร์มไก่ ฟาร์มวัว ฟาร์มสุกร เป็นต้น
๕. เมาในลาภ คือ เมาในรายได้ต่าง ๆ ที่ตนได้มาตามปรารถนา มีเงิน รถยนต์ ที่ดิน เป็นต้น
๖. เมาในยศ คือ ยศที่ผู้ใหญ่ในสายงานอาชีพที่ตนทำอยู่สมมุติให้ มียศพระ (สมณศักดิ์) ยศครู ตำรวจ เป็นต้น
๗. เมาในความสรรเสริญ คือ ประชาชนต่าง ๆ สรรเสริญด้วยปากว่าเป็นคนเก่ง เป็นคนดี เป็นคนมีความชื่อสัตย์สุจริต เป็นต้น หรือสรรเสริญด้วยการได้รับรางวัลต่าง ๆ จากคนในสังคม มีรางวัลโนเบล (Nobel) เป็นต้น
๘. เมาในความสุข คือ ความสบายกายสบายใจ เพราะไม่มีปัญหาใด ๆ ในชีวิต
๙. เมาในความเป็นหนุ่มสาว คือ ความเป็นหนุ่มหน้าตาดี มีความแข็งแรง สมเป็นผู้ชายอกสามศอก เป็นตัน หรือเมาในความเป็นหญิงสาว เนื้อตัวและผิวพรรณกำลังสดใส เต่งตึง สดสวยงดงาม เป็นต้น
๑๐. เมาในความไม่มีโรค คือ ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยมีโรคอะไร ๆ ในชีวิต ก็เป็นเมาหนึ่งเช่นกัน
๑๑. เมาในชีวิตแห่งความเป็นมนุษย์ คือ ชีวิตสัตว์อื่น ๆ มีช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น สู้ชีวิตมนุษย์ไม่ได้ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ เป็นต้น
= ประมาทมัวเมาในสิ่งใด =
(มัว + เมา = มัวเมา) มัว แปลว่า ไม่แจ่มแจ้งในชีวิตตน เมา แปลว่า มีอาการที่มึนจนลืมตัวขาดสติหรือขาดความระลึกได้ว่า “อตฺตา หิ ปรมํ ปิโย.” แปลว่า ตนแลเป็นที่รักอย่างยิ่ง ดังนี้ ถามว่า มัวเมาในอะไร ตอบว่า มัวเมาในอารมณ์ยั่วยวน ๑๑ อย่าง ดังที่กล่าวมาแล้ว ถามว่า เมื่อมัวเมาแล้วเกิดความประมาทนั้น เป็นความประมาทต่อสิ่งใด ตอบว่า ประมาทต่อชีวิตตนและชีวิตผู้อื่นด้วย โดยไม่มีความรู้และขาดสติระลึกไม่ได้ว่า ในชีวิตตนนี้และชีวิตผู้อื่นทุกชีวิตทั้งโลกมีธรรมะหรือธรรมชาติให้ตนเลือก ปฏิบัติอยู่ ๓ กลุ่มธรรม (มาติกาธรรมในอภิธรรมปิฎก) คือ
๑. กุสลา ธัมมา. กุศลธรรมสุจริตธรรมหรือความดี ๑๐ อย่าง คือ ความดีหรือสุจริตทางกาย ๓ อย่าง ทางวาจา ๔ อย่าง และความดีทางใจ ๓ อย่าง (โปรดไปดูในหนังสือ นวโกวาท หรืออภิธรรมปิฎกบทมาติกา) เมื่อคนผู้ไม่ประมาทมัวเมาใช้ชีวิตไปตามทางนี้แล้ว ชีวิตย่อมมี “สุคติ” เป็นที่ไปในเบื้องหน้า (คือ ดีตั้งแต่ขณะนี้เป็นต้นไป)
๒. อกุสลา ธัมมา. อกุศลธรรมทุจริตธรรมหรือความชั่ว ๑๐ อย่าง คือ ความชั่วหรือทุจริตทางกาย ๓ อย่าง ทางวาจา ๔ อย่าง และความชั่วทางใจ ๓ อย่าง (โปรดไปดูในหนังสือ นวโกวาท หรืออภิธรรมปิฎกบทมาติกา) เมื่อคนผู้ประมาทมัวเมาใช้ชีวิตไปตามทางนี้แล้ว ชีวิตย่อมมี “ทุคติ” เป็นที่ไปในเบื้องหน้า คือ ชั่วตั้งแต่ขณะนี้เป็นต้นไป
๓. อัพยากตา ธัมมา. อัพยากตธรรมหรือความดีก็ไม่ใช่ความชั่วก็ไม่ใช่ ๔ อย่าง หรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน สติปัฏฐาน ๔ และเป็นทางสายกลางด้วย (โปรดไปดูหนังสืออภิธรรมปิฎกบทมาติกา) เมื่อใช้ชีวิตไปตามแนวทางนี้ ย่อมอาศัยผู้ศรัทธาเลื่อมใสคนอื่น ๆ เลี้ยงชีวิต เป็นชีวิตที่หลุดพ้นไปจากสุคติและทุคติแล้ว โดยมีคำบัญญัติว่า โลกุตตร หรือ นิพพาน
= ลักษณะคนผู้ประมาท =
หนังสืออรรถกถา เล่มที่ ๑๗ ชื่อ ขุททกนิกายัฏฐกถา ขุททกปาฐวัณณนา (ปรมัตถโชติกา) กล่าวถึงลักษณะคนผู้มีชีวิตอยู่ด้วยความประมาท ๑๑ ลักษณะ คือ
๑. ไม่ทำกิจโดยเคารพ คือ ไม่ตระหนักไม่ใส่ใจว่ากิจที่กำลังทำอยู่นี้เป็น “สัมมากัมมันตะ” ได้แก่ เป็นกางานชอบทางกุศล ทางสุจริต หรือทางความดีหรือไม่ไม่ทราบ ดังนั้น จึงเรียกว่า ทำกิจโดยไม่เคารพ เป็นลักษณะแห่งคนผู้ประมาทอย่างหนึ่ง
๒. ไม่ทำติดต่อกัน คือ กิจนั้นเป็นกุศลเป็นสุจริตจริง แต่ไม่ทำติดต่อกัน นี้ก็เป็นความประมาทหนึ่ง
๓. ทำ ๆ หยุด ๆ ทำการงานเป็นสัมมากัมมันตะจริง แต่ทำ ๆ หยุด ๆ เท่ากับไม่ทำต่อเนื่อง
๔. ทำอย่างท้อถอย คือ ทำกุศลกรรมจริงแต่ทำโดยไม่เต็มใจทำ
๕. ทอดฉันทะ คือ ทอดทิ้งความพอใจในการทำกุศล เป็นเช่นเดียวกับไม่เต็มใจทำ
๖. ทอดธุระ คือ ทอดทิ้งธุระหรือทอดทิ้งหน้าที่ทีทำอยู่ แม้จะเป็นกุศลหรือสุจริตก็ตาม นี้ก็ประมาทหนึ่ง
๗. ไม่ติดใจในกิจที่ทำ คือ ทำกิจที่เป็นกุศลหรือสุจริตจริง แต่ทำด้วยความเกียจคร้าน นี้ก็ประมาทหนึ่ง
๘. ไม่คุ้นกับกิจที่ทำ คือ ทำกิจโดยไม่มั่นใจ แม้จะเป็นกิจที่เป็นกุศลแล้วก็ตาม นี้ก็ประมาทหนึ่ง
๙. ไม่ทำจริง ๆ จัง ๆ คือ การทำกิจที่เป็นกุศลจริง และถ้าไม่ประมาทตามข้อ ๑ – ๘ โดยสมบูรณ์ก็ตาม แต่ไม่ทำจริง ๆ จัง ๆ ในแต่ละวันหรือแต่ละครั้งนั้น ผลแห่งกุศลที่ได้ย่อมไม่สมบูรณ์ นี้ก็ประมาทหนึ่ง
๑๐. ไม่ตั้งใจทำ คือ การไม่ทำกุศลจริง ๆ จัง ๆ ก็เท่ากับว่าไม่ตั้งใจทำ จัดเป็นความประมาทหนึ่ง
๑๑. ไม่หมั่นประกอบในกิจที่ทำ คือ ข้อนี้เป็นความประมาทรวบยอด
= ชาวพุทธผู้ฉลาดมีศาสดาสอนอยู่ตลอดกาล =
ข้อ [๑๔๑] ในเล่มเดียวกันว่า…ดูกรอานนท์ ธรรมและวินัยอันใดเราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอธรรมและวินัยอันนั้นจักเป็นศาสดาของพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา คือ หลังจากพระองค์ปรินิพพานแล้ว ธรรมวินัยที่เป็นสังขารเกิด สังขารแก่ สังขารเจ็บป่วย หรือสังขารตายหรือมรณะ ล้วนเป็นการสั่งสอนของศาสดาทั้งสิ้น
ข้อ ๑๓๘ ในเล่มเดียวกันมีว่า…ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัยนี้ หรือในพุทธศาสนานี้ มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ (อริโย อัฏฐังคิโก มัคโค) ลัทธิอื่นไม่มี ดังนั้น ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น หรือใน พุทธศาสนานี้เท่านั้น มีสมณะที่หนึ่ง พระโสดาบัน สมณะที่สอง พระสกทาคามี สมณะที่สาม พระอนาคามี หรือสมณะที่สี่ พระอรหันต์ ลัทธิอื่น ๆ ว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึงทั้ง ๔ จำพวกนี้.
“สุภทฺท ภิกฺขู สมฺมา วิหเรยฺยุํ อสุญโญ โลโก อรหนฺเตหิ อสฺสาติ” แปลว่า ดูกรสุภัททะ ถ้าพวกภิกษุพึงมีความเป็นอยู่โดยชอบไซร้ โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย.
เป็น อยู่ชอบ คือ การดำรงชีวิตประจำวันของภิกษุในแต่ละขณะนั้น ย่อมมีความชอบอยู่ ๘ ประการ คือ มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ มีความดำริหรือคิดชอบ มีการพูดจาชอบ มีการทำงานชอบ มีการประกอบอาชีพชอบ มีความเพียรชอบ มีสติ ความระลึกชอบ และมีสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ ถ้าภิกษุใดดำรงชีวิตอยู่ประจำวันผิดจากความชอบทั้งแปดประการนี้ คือ เป็นอยู่ตรงกันข้ามกับความชอบทั้งแปดประการ เช่น มีปัญญามิจฉาทิฏฐิ เป็นต้น ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นอยู่ด้วยความประมาท เพราะไม่ยอมรับพินัยกรรมจากพระสังฆบิดา.
= ชีวิตภิกษุผู้ได้รับพินัยกรรม =
ความ ชอบหรืออริยมรรคมีองค์ ๘ ประการนี้ ถ้าเจริญรุ่งเรืองอยู่ในชีวิตภิกษุใด ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้ได้รับพินัยกรรมจาก พระสังฆบิดา คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เนื่องจากเป็นผู้มีชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาทไม่ประมาทเพราะผ่านการปฏิบัติ วิปัสสนากัมมัฏฐาน ที่ตรงกับหลักอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นทางสายกลางจริง ๆ มาจากวิปัสสนาจารย์ ผู้เป็นอยู่ชอบตามความเป็นจริงแล้ว (จริงตามหลักจักร ๔ คือ การหมุนล้อชีวิตไปศึกษาและปฏิบัติอยู่กับสัตบุรุษจนกลายเป็นสัมมาทิฏฐิบุคคล แล้ว และสอนให้คนอื่นเป็นสัมมาทิฏฐิต่อไปด้วย)
ภิกษุ ผู้ไม่ประมาทมีความเป็นอยู่ชอบ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น เมื่อประสบกับสังขารต่าง ๆ โดยเฉพาะสังขารที่เป็นคน (อุปาทินนกสังขาร) ซึ่งมีการแสดงความเสื่อมไปเรื่อย ๆ จากความเกิด ไปถึงความแก่ ความเจ็บป่วย และความตายหรือมรณะ เช่น สังขารคนผู้ตายที่ได้ชื่อว่า “ศพของนาย…” เป็นต้น ภิกษุผู้ไม่ประมาทเมื่อประสบแล้วย่อมรำพึงในใจว่า โอ ! “อนิจจา วตะ สังขารา” สังขารที่เป็นตัวคนทั้งหลายเอย ! ทั้งสังขารในตนและสังขารในคนอื่นสัตว์อื่น ไม่มีความเที่ยงได้หนอ ! ที่ กำลังแสดงอยู่ แสดงมาแล้ว และจักแสดงต่อไป ซึ่งความเกิด ความแก่ ความเจ็บป่วย และความตายหรือมรณะ ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ ย่อมชื่อว่าเป็นการแสดงธรรมจริง ๆ คือ
๑. เป็นการแสดงธรรมวินัยในภาคปฏิบัติจริง เพราะแสดงไปตามกฎระเบียบแห่งสังขาร เกิด แก่ เจ็บ หรือตายหรือมรณะ
๒. เป็นศาสดาจารย์ สั่งสอนให้ผู้มีบุญญาธิการได้อ่านรู้เห็นอย่างแจ่มแจ้ง แล้วคลายความกำหนัดยินดียินร้าย
๓. เป็นพุทธศาสนา ที่แสดงให้ได้สัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่ทุก ๆ เวลานาทีตลอดทั้งชาติ ส่วนคนบาปผู้ประมาทรู้ “พุทธศาสนา” แต่เพียงชื่อเท่านั้น ไม่รู้ว่าคนหรือสัตว์เกิด แก่ เจ็บป่วย และตายหรือมรณะเหล่านั้นว่าเป็น “พุทธศาสนา” โดยแท้จริง
๔.เป็น เทวทูต คือ ทูตสวรรค หรือจดหมายเทวดาฉบับตัวจริง ส่งถึงภิกษุผู้เป็นอยู่โดยชอบ คือ ผู้ได้รับพินัยกรรมจากพระสังฆบิดาแล้วนั้น ย่อมเป็นอยู่ด้วยความไม่ ประมาทให้ได้อ่าน ซาบซึ้งแล้วไปพัฒนาชีวิตตน ให้เจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นไปถึงอริยมรรคอริยผลเป็นลำดับ ส่วนภิกษุผู้เป็นอยู่ด้วยความประมาท ไม่มีสิทธิ์ที่จะอ่านเพราะไม่รู้เรื่อง และเป็นมิจฉาทิฏฐิบุคคลแล้วโดยสมบูรณ์ พืชพรรณสัมมาทิฏฐิของเขาเหี่ยวเฉาไปแล้ว เป็นเช่นกับตาลยอดด้วน (เสยฺยถาปิ นาม ตาโล มตฺถกจฺฉินฺโน อภพฺโพ ปุน วิรุฬฺหิยา) ไม่สามารถจะผลิดอกออกผลได้อีกต่อไป
๕. เป็นสัญลักษณ์หรือเป็นเครื่องหมาย ชี้บอกให้ผู้เป็นอยู่ที่ไม่ประมาทได้ทราบว่า “ปรโลกคือ” “ทุคติ” หรือ “สุคติ” หรือ “วิมุติ” ตลอดถึงทางดำเนินไปให้ถึงด้วย แสดงอยู่พร้อมแล้วในสังขารคนผู้เกิด แก่ เจ็บ ตายหรือมรณะ เช่นกับที่มีศพอยู่ต่อหน้าเราปัจจุบัน และคนอื่น ๆ ด้วยที่แสดงมาถึงค่าย “มรณะ” เป็นที่สุด
๖. เป็นการสาธิตให้ดูพระพุทธเจ้าตัวจริง เพราะหลักฐานในสุตตันต. เล่ม ๙ สํ. ขนฺธ. ข้อ ๒๑๖. มีว่า …โย โข วกฺกลิ ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ…แปลว่า ดูกรวักกลิ ! ผู้ ใดแลเห็นธรรมผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นธรรม ดังนี้ สังขารที่แสดงความเกิด แก่ เจ็บป่วย และตายหรือมรณะ เหล่านี้ล้วนเป็นการสาธิตความเป็นพระพุทธเจ้าตัวจริงให้ดูทั้งสิ้น เพราะธรรมะทั้งส่วนที่เป็น “สังขตธรรม” และเป็น “อสังขตธรรม” คือพระพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้าก็ คือ พระธรรมด้วยและมีพระสงฆ์แทรกอยู่ในนั้นเช่นกัน พวกเราชาวพุทธเอย ! เห็นพระพุทธเจ้าตัวจริงกันหรือไม่ ? โปรดระลึกให้ดีว่า ผู้ไม่ประมาทมีทิพพจักษุ ปัญญาจักษุ พุทธจักษุ และสมันตจักษุเท่านั้นเป็นผู้เห็น ไม่ใช่ตาเนื้อของผู้มีชีวิตอยู่ด้วยความประมาทจะเห็นได้ เขาคงเห็นแต่เพียง เด็กหญิงนั่นเด็กชายนี้เกิดแล้ว, พ่อนั้นแม่นี้แก่แล้ว, นายนั่นนางนี้ป่วยเป็นโรคแล้ว, และพ่อนั่นแม่นี้ตายเป็น “ศพ” ไปแล้ว เป็นต้น ไม่สามารถจะเห็นว่า เป็นธรรมวินัย หรือเป็นศาสดาได้เลยจริงไหม ?
ที่ว่า “สวรรค์ในอกนรกในใจ” นั้น เป็นสัจจธรรมโดยแท้ มีพุทธบุคคลแสดงไว้ใน สุตตันตปิฎก จตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย เล่ม ๑๓ ข้อ ๔๖ โรหิตัสสสูตร ที่ ๒ ความว่า อปิจาหํ อาวุโส อิมสฺมึเยว ฯลฯ โลกนิโรธคามินิญฺจ ปฏิปทนฺติ. แปลว่า …แต่เราย่อมบัญญัติโลก เหตุเกิดแห่งโลก ความดับแห่งโลก ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งโลก ในอัตภาพอันมีประมาณวาหนึ่ง มีสัญญาและมีจิตนี้เท่านั้น
หรือมีว่า กัมมุนา วัตตตี โลโก แปลว่า โลกย่อมเป็นไปตามกรรม คือ อบายโลก มนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก หรือโลกุตตระ ย่อมมีอยู่ในอัตภาพที่มีสัญญาและมีจิตนี้จริง เพราะเหตุแห่งอกุศลกรรมที่ชั่วจึงมีอบายโลกในอัตภาพ กุศลกรรมที่ดีจึงมีมนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลกในอัตภาพ แต่อัพยากตกรรมหรือวิปัสสนากัมมัฏฐานสายสัมมาปฏิบัติจริงเท่านั้น จึงมีโลกุตตระขึ้นมาในอัตภาพที่มีสัญญาและมีจิตนี้ ท่านผู้มีปุญญาธิการมากพอโปรดตรวจสอบดู
ภิกษุ ผู้ประมาทมัวเมาและหมกมุ่นอยู่ในโลกธรรม ๘ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ และความสุข นั้น โดยหารู้ไม่ว่า ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา และความทุกข์ ตลอดทั้งสังขารร่างกายจิตใจพลอยเสื่อมไปพร้อม ๆ กันด้วย ถ้าคนผู้มีบุญญาธิการมากพอย่อมมีสัมมาสติอยู่บ้างก็ขออนุโมทนา
โปรดไปตรวจดูหลักแห่ง ”จักร๔” ซึ่งเป็นคำแนะนำจากพระพุทธเจ้า จะได้เป็นผู้มีชีวิตอยู่โดยชอบทั้ง ๘ ประการ หรือจะได้เป็นผู้มีชีวิตอยู่โดยไม่ประมาทและจักร ๔ นั้น มีในจตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย เล่ม ๑๓ ข้อ ๓๑ ความว่า
๑. ปฏิรูปเทสวาสะ แสวงหาที่อยู่ในถิ่นที่สมควร มีสัมมาทิฏฐิบุคคลสั่งสอน
๒. สัปปุริสูปัสสยะ คบค้าสมาคมกับสัตบุรุษผู้เป็นสัมมาทิฏฐิบุคคลแล้ว
๓. อัตตสัมมาปณิธิ ให้มีปณิธานอันชอบตั้งไว้ในตนด้วย ในเมื่อจะดำเนินชีวิตด้านนี้
๔. ปุพเพกตปุญญตา และควรเป็นผู้มีบุญอันตนสั่งสมไว้แล้วแต่ปางก่อนด้วย
หลัก ฐานนี้แสดงให้รู้ว่า ทุกคนทั้งโลกทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน ไม่มีใครจะดำรงตนอยู่โดยไม่ประมาท เพื่อมีชีวิตอยู่ชอบทั้ง ๘ ประการได้จริงโดยไม่ปฏิบัติผ่าน “วิปัสสนากัมมัฏฐานสายกลาง ๆ” จากอาจารย์ผู้เป็นสัมมาทิฏฐิบุคคลจริง ๆ และเป็นผู้อยู่โดยชอบครบทั้ง ๘ ประการแล้วด้วย ถ้าคิดเอาเองก็เป็นได้แต่ไม่จริง เพราะมีโมหะครอบงำต่างหาก
สุดท้ายนี้ ขอส่งความปรารถนาดีมายังพุทธบริษัททุก ๆ ท่าน โปรดใช้ปัญญาพิจารณาในพินัยกรรมของพระสังฆบิดาที่ว่า “สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา” พวก เธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิดดังนี้ จะป่วยกล่าวไปใยถึงลาภ ยศ สรรเสริญ และความสุข จะไม่เสื่อมไปได้เล่า และแล้วเราผู้พบเห็นพินัยกรรมและพบเห็นสังขารที่เป็นคนเกิด แก่ เจ็บป่วย และตายหรือมรณะแล้ว ยังมัวเมาประมาทอยู่ไหม ?
ขอส่งบทความนี้ถึงเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุก ๆ ท่านทั้งโลก ด้วยความหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คงมีท่านผู้มีปุญญาธิการ คือ “ปุพเพกตปุญญตา” ได้อ่านแล้วสามารถปลุก “จิตเดิม” อันบริสุทธิ์ให้ตื่นขึ้นมาดูเห็นสังขารทั้งหลายที่แสดงธรรมอยู่ตลอดกาลได้ อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน นั้นแหละเป็นทางแห่งวิสุทธิอย่างแท้จริง แล.
วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๕ เวลา ๒๑:๐๑ น. | เขียนโดย ธัมมิกะ